Skip to main content

Thisable.me ชวนคุยกับ ผศ.ดร.ธีรวรรณ ธีระพงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของวิชาเลือกเสรีอย่างวิชาการพัฒนาการตระหนักรู้ในตน (Self-Awareness) ที่เขาคร่ำวอดกับคำๆ นี้และวิชานี้ยาวนานสิบกว่าปี มาพูดคุยกันว่า Self-Awareness และสุขภาพจิตมีความสัมพันธ์กันแบบไหน และมีบทบาทสำคัญสุขภาพจิตกับอย่างไรบ้าง


อะไรทำให้อาจารย์ตัดสินใจเปิดสอนวิชาตัวเลือกการตระหนักในตนเอง (Self-Awareness) 

ธีรวรรณ: เราเคยสัมภาษณ์อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์เพื่อทำวิจัย แล้วเราถามอาจารย์ประมวลว่า เราจะพัฒนาเยาวชนของเราได้อย่างไร อาจารย์ตอบว่า ต้องให้เขาหยุดคิดเป็นก่อน ในความหมายที่ว่าหยุดคิดอะไรที่ฟุ้งซ่าน ไร้ประโยชน์ หรือเรื่องที่ไม่เป็นความจริงที่คิดต่อไปเรื่อยๆ แล้วจมกับความคิดลงไปเรื่อยๆ และประยุกต์กับหลักการอาจารย์ประเวศ วสีเคยกล่าวไว้ว่า คนต้องพัฒนาจิตก่อน ดังนั้นเรานำเครื่องมือจากโลกทางจิตวิทยากับโลกทางสติมาเจอกัน เพราะจิตวิทยาเข้าถึงคนง่าย เนื่องจากมีรูปแบบ ขั้นตอนที่ชัดเจน จะช่วยให้ไปถึงการตระหนักรู้ที่ลึกซึ้งต่อตัวเองและดูแลตัวเองในเชิงสติได้ 

ส่วนหนึ่งของความสนใจพัฒนาการตระหนักรู้ของนักศึกษาในกระบวนวิชานี้ เราได้จากการทำวิทยานิพนธ์จิตวิทยาแนวพุทธตอนปริญญาเอก ประกอบกับเราเรียนจิตวิทยาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาโท เลยเอาสองส่วนนี้ผสมเข้าด้วยกัน คิดว่าจะพัฒนานักศึกษาได้อย่างไรจากการใช้เครื่องมือต่างๆ ของจิตวิทยาในการฝึก แล้วเราจะดูแลเด็กได้ละเอียดทีละคนอย่างไร ดังนั้นการปูความรู้พื้นฐานเรื่องเหล่านี้ก่อน เช่น การรู้จักบุคลิกภาพตัวเองก่อน สะท้อนให้เห็นว่า เราต่างจากคนอื่นได้ ไม่มีใครดีใครแย่กว่ากัน แล้วค่อยเขยิบมาเรื่อง Pathogenic belief หรือความเชื่อที่ผิดๆ ที่อยู่เบื้องหลังการแสดงออกพฤติกรรมของเรา เราต้องรู้ก่อนความคิดที่อยู่เบื้องหลังการกระทำนี้ การตัดสินใจแบบนี้เป็นจริงไหม เราถูกปลูกฝังการับรู้ที่ผิดๆ อยู่หรือเปล่า หรือความคาดหวังของคนอื่นทำให้เรามีความเชื่อแบบนี้ 

แล้วพยายามโยงสิ่งต่างๆ ชวนให้นักศึกษาตั้งคำถามกับตัวเองว่า ที่ฉันเชื่อ ที่ฉันเป็น ตอนนี้ใช่ฉันหรือเปล่า ?

หลังจากเรียนเสร็จแต่ละหัวข้อ เราจะให้นักศึกษาเขียนบันทึกสังเกตตัวเองมาส่ง ถ้าเห็นว่านักศึกษายังไม่เข้าใจตรงนี้ เราก็ซัพพอร์ตด้วยการเขียนคอมเมนต์กลับ 

ที่ผ่านมาวิชานี้สะท้อนให้อาจารย์เห็นว่า เด็กแต่ละรุ่นที่สอนมี Self-Awareness มากน้อยแค่ไหน เราให้เนื้อหานักศึกษาไปเท่ากัน แต่นักศึกษาเข้าใจความลึกซึ้งของวิชา Self-Awareness ไม่เท่ากัน ที่ได้กับตัวอย่างน้อยที่สุดคือการอยู่กับตัวเองเป็น รู้ว่าอะไรทำให้ตัวเองนิ่ง หรือหยุดคิดเป็น ทำให้ไม่ฟุ้งซ่าน บางคนสามารถรู้ตัวว่ามองตัวเองในแง่ไม่ดีจนไม่มีพลังใจกล้าจะทำอะไรเลย หรือเรียนวิชานี้ทำให้คนปลดล็อกอะไรบางอย่าง บางสิ่งที่เคยรักมากกลับมีความคิดบางอย่างทำให้สะดุดจนล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำ แต่เกิดสะดุดความคิดบางอย่างจนล้มเลิกความตั้งใจที่จะทำ ก็ได้กลับมาลงมือทำอย่าง นักศึกษาที่เรียนจบไปแล้วส่งอีเมล์มาขอบคุณ เพราะวิชานี้ทำให้เขากล้าที่จะกลับไปทำในสิ่งที่เขารักนั้นก็คือ การเขียนนิยาย ตอนนี้เขาชนะการประกวดด้วย หรือช่วงคาบท้ายๆ เราจะให้นักศึกษามาเล่าว่าได้อะไรจากวิชานี้ ก็มีนักศึกษาหญิง 2 คนเล่าว่า เพื่อนเขาอกหัก แล้วไปเที่ยวร้านเหล้า กำลังโวยวาย ร้องไห้ฟูมฟูาย เพื่อนอีกคนที่ไปด้วยกันและเรียนวิชานี้ด้วยกัน สะกิดเพื่อนแล้วบอกว่า “แกๆ พวกเราเรียนวิชา พวกเราเรียนวิชา Self-Awareness กลับมาอยู่กับตัวเองให้ได้ อย่าฟูมฟายยย” ตอนเอามาเล่าในคลาสขำกันหนักมาก ขนาดเมายังต้องมี Self-Awareness  

แสดงว่าครอบครัวและโรงเรียนมีส่วนในการสร้าง Self-Awareness ของเด็กตั้งแต่ๆ พวกเขายังอายุยังน้อย

จริงๆ ควรเป็นเรื่องหลักในการสอนแต่รั้วมหาวิทยาลัยยังไม่ค่อยมีวิชาเหล่านี้ ตอนนี้มีอาจารย์หลายท่านก็ได้เปิดวิชาสติ วิชาพัฒนาจิต ซึ่งเป็นที่น่ายินดีเพราะเป็นตัวช่วยให้เด็กๆ ตระหนักรู้ในตัวเอง 

ส่วนครอบครัวแนะนำว่า ควรเริ่มจากการที่พ่อแม่รู้จักตัวเองก่อน ท่านติช นัท ฮันห์ ที่เพิ่งละสังขารบอกว่า เรามีโรงเรียนสำหรับครู โรงเรียนสำหรับหมอ แต่เราไม่มีโรงเรียนสำหรับพ่อแม่ ที่กำลังจะแต่งงานเป็นสามีภรรยากันแล้ววางแผนจะมีลูก ควรเข้าคอร์สเกี่ยวกับการตระหนักรู้ในตัวเอง ไม่อย่างนั้นพ่อแม่ที่ไม่ตระหนักรู้ตัวเอง เอาอคติ ความคาดหวัง ปมบางอย่างมาปนเปื้อนระหว่างเลี้ยงดูลูก 

สำหรับคนที่ไม่มีรู้จักเรื่องนี้เลยแล้วจะมี Self-Awareness ง่ายๆ ได้อย่างไร 

หากพูดว่า รู้จักลมหายใจตัวเองก่อน พูดแบบนั้นก็ได้ แต่ต้องมีคนสอนหน่อยเพื่อให้หลักการนิดหนึ่ง ถ้าเอาเรื่องพุทธมาใช้กับ Self-Awareness แล้วจับไม่ดีเหมือนจับงูให้มาฉกเราเลย 

วิธีการจะมี Self-Awareness ง่ายๆ ได้คือ รู้สึกตัวว่ากำลังรู้สึกอะไร ได้ยินอะไร ได้กลิ่นอะไร ไม่ต้องปรุงแต่ง อยู่แค่สิ่งตรงหน้า สมมติตอนนี้นักศึกษาจับไม้กวาดอยู่ แล้วอาจารย์ถามว่ารู้ไหมว่า เธอกำลังจับไม้กวาดอยู่ เวลาอาบน้ำรู้ไหมว่าน้ำไหลผ่านอวัยวะอะไรไปบ้างแล้ว ได้กลิ่นอะไรบ้าง เราจะพยายามให้เขารู้สึกตัวอยู่กับการรับรู้ประสาทสัมผัสทั้งห้า

มีเครื่องมืออะไรบ้างที่ช่วยสะท้อนการตระหนักรู้ของตัวเอง นอกเหนือ Mindfulness , Attachment Styles , MBIT ที่ถูกพูดถึงเยอะมากในยุคนี้

การตระหนักรู้หรือสัมผัสความจริงของจิตใจตนเองบางครั้งอยู่ในรูปแบบความเจ็บปวด ความเจ็บปวดของบางคนเกิดจากการใช้กลไกอะไรบางอย่างเพื่อเก็บบางสิ่งไว้และไม่แตะต้อง หรือทำสิ่งที่คนอื่นยอมรับ อะไรที่คนอื่นไม่ยอมรับก็ไม่เลือกทำ สิ่งที่ไม่ยอมรับอาจจะเป็นตัวตนที่แท้จริงของเขาก็ได้ แต่เขาเลือกทำตามการยอมรับของคนอื่นเสมอโดยที่ไม่รู้ตัวเลยตั้งแต่เด็กๆ เช่น สังคมมีทัศนคติว่าผู้ชายต้องไม่อ่อนแอ หากเกิดปัญหาก็ต้องไม่ร้องไห้ ไม่แสดงออก เขาจึงไม่มีทางออกอื่นที่สบายใจนอกจากยาเสพติด เล่นเกม จนพัฒนาเป็นความเจ็บป่วยทางจิตได้ อย่างไรก็ดีก่อนจะพัฒนาไปเป็นอาการป่วยทางจิต ถ้ารู้เท่าทันคนก็มีกลไกป้องกันตัวเองออกจากความเจ็บป่วย ซึ่งอาจจะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดโรคทางจิตเวช

Self-Awarenes สำคัญอย่างไรต่อสุขภาพจิต และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร

Self-Awareness เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพจิตที่ดีที่สุด ลองเข้ากูเกิ้ลแล้วเสิร์ชคำนี้ดู ปรากฎว่าเป็นรากฐานในเรื่องอื่นหมดเลย เช่น อยู่ในข้อที่ 1 ของเรื่อง EQ เป็นส่วนหนึ่งของ เป็นส่วนหนึ่งของเรื่องการพัฒนาตนเอง (Self-Development) และช่วยให้อยู่กับความเป็นจริง ไม่อยู่กับความคาดหวัง ความเชื่อผิดๆ หรืออยากให้ทุกอย่างไม่เป็นตามใจ ดังนั้นเกิดความรู้สึกผิดหวัง เสียใจ ถ้ารู้ไม่เท่าทันตนเอง หรือไม่ยอมรับความรู้สึกเหล่านี้ไม่ได้ก็จะสะสมกลายเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตได้ 

การมี Self-Awareness จะช่วยให้สังคมเป็นสังคมแบบไหน ดีอย่างไรต่อการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม

คนจะอยู่กันง่ายๆ ตรงไปตรงมา อยู่กับความเป็นจริง ไม่เบียดเบียน ไม่ทำให้ตัวเองเดือดร้อน ไม่ทำให้คนอื่นเดือนร้อน 

ง่ายๆ ตรงไปตรงมาหมายความว่าอย่างไร

สมมติว่า มีผู้ชายมาชอบเรา เราก็ชอบเขาแหละ แต่ถูกสอนมาห้ามทำนู้นทำนี่ ทำไม่สนใจบ้าง ตอบแชทช้าๆ จะไม่ได้ดูเป็นง่ายไป เราถามกลับว่า ง่ายไปแล้วเป็นไง…. (คิดไปเองหรือเปล่า) สิ่งเหล่านี้คือ กระบวนการป้องกันตัวเองโดยทำตรงกันข้าม มีหลายคนที่ถอยออกมากลัวผิดหวังทั้งๆ ที่ยังไม่เกิดอะไรขึ้นเลย เพราะเราไม่ตรงไปตรงมา ความจริงคือ ฉันรักเธอ เธอรักฉัน

ปัจจุบันโลกเรานิยมสุข กลัวความผิดหวัง แต่โลก Self-Awareness ผิดหวังก็คือ ผิดหวัง ผิดหวังไม่ตายหรอก แต่บางคนผิดหวังแล้วก็หนีไปสร้างกลไกนู้นนั่นนี่จนบรรทัดฐานโลกนี้เพี้ยนไปหมด

10.10 ไม่ใช่วันดีเดย์ช้อปปิ้งแต่คือวันดีถือโอกาสชวนสำรวจสุขภาพจิต

วันนี้เป็นวันที่จะชวนมาสำรวจว่า เราดูแลสุขภาพจิตบ้างหรือเปล่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญเรื่องนี้หรือไม่ เพราะสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญต่อการทำงาน ต่อประเทศชาติ ต่อโลกใบนี้

คนสมัยนี้มีปัญหาสุขภาพจิตเพราะอยู่กับโลกเสมือนเยอะเกินไป ปัจจัยของโลกเสมือนไม่เหมือนโลกจริง โลกจริงมีสมหวังผิดหวัง แต่โลกเสมือนเราเลือกเฉพาะความสมหวังได้ ซึ่งความเป็นจริงเราเลือกไม่ได้ เช่นเดียวกับธรรมชาติที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล ไม่ได้คงอยู่แบบเดิมตลอดไป เราไม่ควรมองชีวิตแค่เพียงด้านเดียว ชีวิตไม่ได้เป็นต้นไม้พลาสติก 

เดี๋ยวนี้จะมีคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องสุขภาพจิตเยอะเหมือนกัน บางคนบอกว่าทำแบบนี้สิ บางคนบอกว่าไม่ใช่ ทำแบบนี้สิ มันเป็นสูตรสำเร็จมากเกินไป จิตใจเราไม่ใช่สี่เหลี่ยม มันเป็นวงกลม แล้วจะเอากรอบสี่เหลี่ยมไปครอบ เราก็จะหลุดสาระบางอย่างที่วงกลมมี เวลาเราเห็นคอนเทนต์แบบนี้จะขำทุกทีว่า สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของชีวิต เหมือนกับ Self-Awareness ที่ไม่ได้มีคำอธิบายเดียว เพราะมันขึ้นอยู่กับแต่ละคน