Skip to main content
ปัญหาติดหน้าจอเป็นปัญหาใหญ่ของครอบครัวที่มีลูกหูหนวก เพราะเมื่อพ่อแม่ใช้ภาษามือไม่เป็น ลูกก็ไม่สามารถสื่อสารกันได้อย่างเข้าใจเด็กๆ จึงง่วนอยู่กับน่าจอที่มีภาพแสดงท่าทางต่างๆ  นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกที่เกิดขึ้น หากแต่เป็นเรื่องปกติที่ครอบครัวหูหนวกต้องเจอ เมื่อการสื่อสารภาษามือยังเป็นเรื่องที่เข้าถึงได้ยาก และมีน้อยคนที่เข้าใจ
 
รายงานสถิติคนพิการทางการได้ยินปี 2565 จากสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย เผยว่าประเทศไทยมีคนหูหนวก 398,659 คน แต่ละปีมีคนหูหนวกใหม่เกิดขึ้นประมาณ 1,000 คน ในจำนวนนั้นมีเด็กหูหนวกที่เกิดในบ้านของคนหูดีไม่น้อย แต่ลูกหูหนวกจำนวนมากไม่ได้เริ่มภาษาแรกอย่างภาษามือ หลายครอบครัวฝึกลูกให้พูดทั้งที่ไม่ได้ยินเสียงพ่อแม่เลย และมีพ่อแม่จำนวนน้อยมากที่ได้เรียนภาษามือเพื่อคุยกับลูก Thisable.me จึงอยากชวนคุยกับ สุวัฒน์ ทองท้วม พ่อของการ์ตูน—ชยาภรณ์ ทองท้วม รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง Miss & Mister, Miss Queen, Mrs.Deaf Thailand ประจำปี 2563 พ่อที่ตัดสินใจเรียนภาษามือด้วยความตั้งใจง่ายๆ  เพราะอยากคุยกับลูกและคิดว่าภาษามือช่วยทำให้ลูกมีความรู้ และใช้ชีวิตในสังคมได้ไม่ต่างจากคนใช้ภาษาพูด 
 
ภาพพื้นหลังเป็นพ่อแม่ลูกเดินจับมืออยู่ที่ชายหาด และพาดชื่อหัวข้อไว้ว่า "พ่อแม่หูดีสื่อสารกับลูกหูหนวกด้วยภาษามือ : หัวใจการมีชีวิตรอดในโลกที่ไม่ได้ยินเสียง" และมีภาพผู้ชายเป็นสีขาวดำอยู่ตรงมุมขวามือ เขาคือสุวัฒน์ ทองท้วม บุคคลที่สัมภาษณ์ครั้งนี้
 

คุณรู้ว่าลูกไม่ได้ยินเสียงตอนไหน

สุวัฒน์: ช่วงที่ลูกอายุ 2-3 ขวบ ตอนนั้นเราขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง ตอนเย็นกลับบ้าน เห็นลูกนั่งเล่นอยู่แล้วจะเอารถเข้าบ้าน เลยบีบแตรให้ลูกหลบรถ แต่ปรากฏว่า เขาไม่ขยับ ไม่หันมามองตามต้นเสียง เลยพาไปหาหมอที่โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ แต่เครื่องมือตรวจรักษาไม่มี สุดท้ายส่งตัวมาที่โรงพยาบาลเด็กแล้วพบว่า เส้นประสาทหูลูกตึง มีค่าเฉลี่ยการได้ยินเสียง 95 เดซิเบล ใส่เครื่องช่วยฟังแล้วก็ไม่สามารถช่วยได้ และฐานะทางบ้านค่อนข้างขัดสน ไม่มีเงินผ่าตัดประสาทหูเทียม จึงตัดสินใจเลี้ยงดูลูกทั้งที่หูหนวกนี่แหละ
 

ก่อนหน้านี้มีอะไรเป็นสัญญาณเตือนบ้างว่าลูกมีปัญหาการได้ยิน  

ช่วงตั้งครรภ์ติดเชื้อหัดเยอรมัน หลังจากนั้นไปหาหมอที่คลินิก หมอแนะนำให้เอาเด็กออกเพราะมีโอกาสคลอดออกมาแล้วพิการ พอจะไปยุติการตั้งครรภ์ที่โรงพยาบาลวิเศษชัยชาญ หมอลองตรวจอีกครั้ง ทารกในครรภ์แข็งแรง สมบูรณ์ดีทุกอย่าง ประกอบกับอายุครรภ์มากกว่า 3 เดือนครึ่งแล้ว ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง
 
ตอน 1-2 ขวบแรก ลูกไม่มีอาการผิดสังเกต คลอดออกมาร่างกายแข็งแรง ส่งเสียงร้องดังมากเหมือนทารกปกติทั่วไปเลย และคิดว่าหมอคนที่ 2 พูดคงเป็นความจริง 
 

ตอนนั้นสื่อสารกับลูกอย่างไร

ใช้ภาษากายสื่อสาร เช่น สะกิดเรียก พยักหน้าตอบตกลง บางทีใช้ภาษามือธรรมชาติ ถ้าเราบอกว่าทำไม่ได้ เราจะโบกมือว่าไม่ได้ เวลาเรียกกินข้าวก็ทำท่ามือหยิบข้าวใส่ปาก
 

เริ่มเปลี่ยนมาใช้ภาษามือตอนไหน 

สมัยนั้นคนไม่รู้ว่าคนหูหนวกมีภาษาสื่อสารเป็นของตัวเอง จนกระทั่งมีนักศึกษาฝึกงานมาหาว่าที่ไหนมีเด็กพูดไม่ได้บ้าง แล้วมาเจอลูกเรา ก่อนสอนเขาพูดว่า ถ้าลูกใช้ภาษามือเป็น พ่อแม่ใช้ภาษามือไม่เป็น แล้วพ่อแม่คุยกับลูกไม่ได้จะมีประโยชน์อะไร ทุกครั้งที่มาสอน พ่อแม่ต้องมาเรียนด้วยทุกวันพุธและวันศุกร์เป็นเวลา 1 ปี 
 

เรียนภาษามือยากมากไหม 

ช่วงแรกลำบากนิดนึงเพราะไม่เคยใช้ภาษามือ เราไม่เคยเรียนรู้มาก่อน แต่พอได้เรียนแล้วเพลิดเพลิน สนุก และเป็นภาษาที่สวยอ่อนช้อย ลูกเรียนตอนเด็ก ทำให้จำง่ายและจำแม่น เรามองว่าภาษามือกับภาษาพูดไม่ต่างกัน ตอนอยู่โรงเรียนหัดเขียนพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ นับเลข เหมือนกับเด็กหูดีเลย เราคิดว่าเราได้เปรียบคนอื่นด้วยซ้ำ เวลาคุยกันเป็นภาษามือในครอบครัว คนอื่นไม่รู้ว่าคุยอะไรกัน พอดุลูก สอนลูกว่า ‘อย่าทำอย่างนี้นะ มันไม่ดี’ เขาไม่รู้สึกโดนหักหน้า 
 

มีความคิดจะฝึกให้ลูกพูดเหมือนคนทั่วๆ ไปไหม

เราอยากให้ลูกพูดได้ แต่มันเป็นไปไม่ได้ เราต้องปรับตัว สื่อสารกับเขาในชีวิตประจำวันให้ได้ เราภูมิใจที่ลูกเราพูดไม่ได้แต่ยังมีภาษาที่สื่อสารได้ ทำให้เราคุยกับลูกรู้เรื่อง 
 
นอกจากนี้ก็ยังได้ใช้สื่อสารกับเพื่อนลูกที่เรียนด้วยกันตั้งแต่ประถม มัธยม บางทีมาหาที่บ้านเราก็ถามเขาอยากกินอะไร ทำอะไร บางทีเขาสื่อสารกับใครไม่ได้ เราก็เป็นล่ามสื่อสารความต้องการให้
 
การใช้ภาษามือสื่อสารกับลูก มีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง
ส่วนใหญ่เราจะไม่เปรียบเทียบข้อดีข้อเสียภาษามือกับคนอื่น แต่จะเปรียบเทียบในครอบครัวตนเอง ข้อเสียคือ ตอนที่ลูกเรียนภาษามือระดับไปถึงระดับไหนแล้วก็ไม่รู้ แต่เรายังอยู่ระดับประถม มัธยม เราตามลูกไม่ทัน สิ่งไหนที่ลูกไม่บอกให้เรารู้ จะไม่รู้เลย และเขาใช้ภาษามือเร็วมาก บางทีต้องบอกว่าทำช้าๆ พ่อแปลไม่ทัน อีกเรื่องคือเขาติดมือถือมากแต่เราก็เข้าใจว่า เวลาสื่อสารกับเพื่อนเขาจะใช้วิดีโอคอล เราก็ไม่เคยบ่นหรือว่า เรารู้ว่าเขาไม่อยากติดโทรศัพท์หรอก แต่เขาอยากคุยกับเพื่อนมากกว่า 
 

คิดยังไงกับคนที่เรียกคนหูหนวกว่าคนใบ้

เราที่เป็นพ่อเป็นแม่ได้ยินคนเรียกลูกว่า อีใบ้ ก็สะเทือนใจ รู้สึกว่าไม่สมควร ไม่ให้เกียรติลูกเราเลย นอกจากนี้เรามองว่า คนในชุมชนสำคัญมาก หากชาวบ้านรักลูกเรา เขาก็จะไม่พูดทำร้ายจิตใจ ไม่เรียกลูกเราว่าใบ้แต่เรียกชื่อเล่นแทน
 

ประเทศไทยควรมีอะไรสนับสนุนพ่อแม่ที่มีลูกหูหนวก

อยากให้มีโรงเรียนโสตศึกษามากขึ้น โรงเรียนพวกนี้มีน้อยมาก ไม่เหมือนโรงเรียนเด็กหูดีที่มีทุกตำบล ทุกอำเภอ แต่โรงเรียนเฉพาะทางเด็กหูหนวก 3-4 จังหวัดถึงจะมีโรงเรียนโสตศึกษา 1 โรงเรียน ถึงคนพิการจะเรียนฟรี กินฟรี อยู่ฟรี นอนฟรี แต่วันไหนที่ต้องไปรับไปส่งลูก เราต้องหยุดประกอบอาชีพ ขาดรายได้ เพราะโรงเรียนไม่ให้ค้างวันเสาร์อาทิตย์ ค่าเล่าเรียน เสื้อผ้า รองเท้าก็ไม่ฟรี หนังสือบางเล่มไม่ฟรี 
 

ส่วนเรื่องการบังคับเรียนให้พ่อแม่ภาษามือ เราไม่ค่อยเห็นด้วย เพราะพ่อแม่ต้องประกอบอาชีพ

ตอนลูกเรียนที่โรงเรียนเศรษฐเสถียร ทุกวันศุกร์มารับลูก ครูที่โรงเรียนขอให้คุณพ่อมาถึงเที่ยงได้ไหม ก่อนลูกจะกลับบ้าน ทางโรงเรียนจะสอนภาษามือให้ฟรี แต่ติดว่าเราต้องหาเงิน เราไม่สามารถทำอย่างที่ครูแนะนำได้ เลยได้แต่เก็บความสงสัยตอนลูกอยู่กับเราที่บ้าน ถ้ามีภาษามือที่ลูกทำแล้วเราไม่รู้ ไม่เข้าใจ เราก็จะถามคุณครูว่าลูกทำภาษามือแบบนี้ แปลว่าอะไร 
 

คิดเห็นอย่างไรที่พ่อแม่ควรเรียนภาษามือ

การที่พ่อแม่รู้ภาษามือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูก ทำให้ลูกรู้ว่าเรารักและทำทุกอย่างเพื่อเขา พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องเรียนภาษามือด้วยซ้ำแต่ยังเรียนเพราะว่าอยากสื่อสารกับลูก เพื่อให้ลูกมีความรู้ อยู่ในสังคมได้ เราไม่ได้อยู่กับลูกไปตลอด ขอให้เขาอ่านออก เขียนได้ และเรียนรู้ได้มากที่สุด ไม่ใช่พอมีลูกหูหนวกก็ให้ลูกอยู่แต่บ้าน ไม่ไปไหนเลย ไม่อยากให้ผู้ปกครองคิดแบบนั้น ตอนแรกที่รู้ว่าลูกพูดไม่ได้ เราไม่เคยเอาแกไว้บ้านเลย ไม่ว่าจะไหว้พระ ไปเที่ยวงานเทศกาลต่างๆ เราจะพาลูกสาวไปด้วยตลอดเพื่อให้รู้จักเส้นทางว่า เส้นทางนี้ไปไหนได้บ้าง ขึ้นรถสายนี้จะไปสุดสายตรงไหน บางครอบครัวรู้ว่าลูกหูหนวกก็อาย ไม่กล้าพาลูกออกนอกบ้าน เป็นความคิดที่ไม่ถูกต้อง
 
เรื่องที่น่าอายกว่าลูกไม่ได้ยินคือการที่พ่อแม่ไม่ยอมเรียนภาษามือเพื่อสื่อสารกับลูก ถ้าพ่อแม่ไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับลูก สังคมจะมองว่าคุณเป็นอย่างไร ไม่เคยคุยกับลูกเลยเหรอ ไม่เคยใส่ใจว่าภาษาที่ใช้สื่อสารกับลูกได้คือภาษาอะไร หากพ่อแม่ใช้ภาษามือไม่ได้ เวลามีปัญหาเขาก็จะไปหาคนที่สื่อสารได้แล้วพาเขาไปนู้นไปนี่ได้ ไม่ใช่พ่อแม่