ไอติมและมันฝรั่งแผ่นอาจเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในขนมแห่งมวลมนุษยชาติก็ว่าได้ เพราะเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงง่าย อร่อย และราคาถูก หลายคนน่าจะเคยมีประสบการณ์ที่ไม่สามารถหยุดกินมันฝรั่งแผ่นและไอติมได้ แม้มันจะถุงใหญ่หรือถ้วยใหญ่มากก็ตาม การหยุดกินของเหล่านี้มันดูยากเกินห้ามใจเสมอ แต่ถึงขั้นเสพติดเหมือนคนติดบุหรี่นี่เป็นไปได้จริงหรือ?

แอชลีย์ เกียร์ฮาร์ด ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกาได้สร้างเกณฑ์การวัดระดับการเสพติดอาหารขึ้นมา ซึ่งมีตั้งแต่

  • ความอยากที่จะกินอาหารนั้น ๆ
  • การกินโดยไม่สามารถควบคุมได้
  • ปริมาณการกินที่มากเกินไป
  • การเลือกที่จะกินต่อแม้รู้ว่าอาหารนั้นส่งผลเสียต่อสุขภาพ

สิ่งเหล่านี้เคยเกิดขึ้นกับคุณรึเปล่า? ไอติมและมันฝรั่งแผ่นจัดเป็นอาหารแปรรูปสูง (Ultimate-processed foods) หรืออาหารที่ไม่ได้อยู่ในรูปร่างหน้าตาเดิมของมัน ซึ่งอาหารกลุ่มถูกจัดว่าเป็นอาหารขยะ เพราะว่าให้พลังงานสูง แต่คุณค่าทางโภชนาการต่ำ และให้สารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ อย่างน้ำตาล โซเดียม ไขมันอิ่มตัว และวัตถุเจือปนอาหาร

โดยการศึกษาอีกชิ้นของแอชลีย์ เกียร์ฮาร์ดได้บอกว่าสารอาหารในกลุ่มของคาร์โบไฮเดรตขัดสี (น้ำตาล, แป้งขาว) และไขมันมีคุณสมบัติกระตุ้นให้สมองเกิดความสุข และเกิดการเสพติดได้

บทความสุขภาพอีกชิ้นบน The Guardian ที่ได้เล่าการศึกษาชิ้นใหม่ของ คริส แวน ทัลเลเคน มีเนื้อหาว่าคนที่มีอาการเสพติดอาหาร ส่วนใหญ่แล้วอาหารที่คนเหล่านั้นติดมักเป็นอาหารแปรรูปขั้นสูง

ทำไมไอติม มันฝรั่ง และอาหารแปรรูปขั้นสูงถึงทำให้เสพติด?

เวลาที่มนุษย์ได้ลิ้มลองรสชาติความอร่อย สมองของเราจะหลั่งสารแห่งความสุขที่เรียก ‘โดปามีน’ (Dopamine) ออกมา ซึ่งอาหารที่ผ่านการปรุงรสมากมายอย่างอาหารแปรรูปขั้นสูง อย่างไอติม มันฝรั่งแผ่น และขนมอื่น ๆ ก็ทำให้สมองเกิดภาวะความสุขจากการกินนี้ขึ้น

แต่ความสุขจากสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ แต่อร่อยนั้นอยู่ไม่นาน เมื่อโดปามีนพุ่งขึ้นสูงในช่วงเวลาสั้น ๆ แล้วตกลง สมองจะสร้างแพตเทิร์นการเสพติดขึ้น โดยสมองของคุณจะจดจำแล้วว่าอาหารที่คุณกินเข้าไป มันทำให้คุณมีความสุข คุณเลยรู้สึกโหยหาอาหารเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ ซึ่งเป็นกระบวนการเดียวกับการที่สมองเสพติดนิโคตินในบุหรี่ แอลกอฮอล์จากเหล้า หรือสารเคมีในยาเสพติด

ถึงอย่างนั้น กระบวนการในการเสพติดอาจต้องใช้ระยะเวลาเพื่อทำให้สมองคุณเสพติดสิ่งเหล่านั้น ซึ่งในวันแรกที่คุณกิน คุณอาจรู้สึกแค่ว่า ‘อร่อยดีนะ’ วันถัดมาคุณเลยกินมันอีก เพราะมันอร่อย โดยไม่ได้คิดว่าคุณจะเสพติดมัน และกินต่อไปเรื่อย ๆ เพราะไม่ได้คิดอะไร พฤติกรรมเหล่านี้นี่แหละที่ส่งผลให้สมองเราเสพติดอะไรสักอย่างหนึ่ง

ความเสี่ยงจากการเสพติดอาหารแปรรูปขั้นสูง

อย่างที่ได้บอกไปว่าอาหารกลุ่มนี้มักให้พลังงานสูง แถมด้วยสารอาหารที่ไม่มีประโยชน์ การกินบ่อยเกินไป และกินมากเกินไปจึงส่งผลเสียกับสุขภาพได้ เช่น

  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคมะเร็ง
  • เร่งการเสื่อมของสมอง และเพิ่มความเสี่ยงของโรคสมอง
  • เพิ่มความเสี่ยงของโรคทางอารมณ์ อย่างโรคเครียด และโรคซึมเศร้า
  • เสี่ยงที่จะเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

นอกจากไอติมและมันฝรั่งแผ่น อาหารแปรรูปขั้นสูงมีอะไรอีก?

อาหารอะไรก็ตามที่ไม่ได้อยู่ในรูปร่างหน้าตาแรกเริ่มของมัน นั่นแหละอาหารแปรรูปขั้นสูง เช่น ไส้กรอกหมูที่ไม่ได้อยู่ในรูปของเนื้อหมูอีกต่อไป มาดูตัวอย่างกัน

  • เนื้อสัตว์แปรรูป: ไส้กรอก กุนเชียง หมูยอ แฮม
  • น้ำตาล: น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ลูกอม เจลลี
  • แป้ง: ขนมอบจากการผลิตเชิงอุตสาหกรรม มันฝรั่งแผ่นอบหรือทอดกรอบ
  • อื่น ๆ: บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ไอติม ผงปรุงรส มาการีน

เชื่อว่าต้องมีอาหารสักอย่างหนึ่งในนี้ที่เป็นของโปรดของคุณ อาหารแปรรูปขั้นสูงอยู่รอบตัวเรา การกินแค่บางครั้งคราวไม่ได้ทำให้คุณเสพติด ไม่ได้เป็นอันตราย โดยผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าไม่ควรได้รับพลังงานจากอาหารกลุ่มเกิน 10 เปอร์เซ็นต์ต่อวัน

ที่มา: NY Post

ภาพปก: Freepik

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส